1. ยางซิลิโคน (SILICONE RUBBER)
เป็นพลาสติกชนิดหนึ่ง (Polymer) มีลักษณะเป็นสีขาวข้น หรือบางชนิดสีขาวขุ่น ใช้ทำแม่แบบยางสำหรับหล่อชิ้นงาน มีอายุการเก็บประมาณ 6 เดือนควรเก็บไว้ในที่ร่ม ยางซิลิโคนที่ดีควรมีคุณสมบัติเด่นดังนี้
1.1 ทนความร้อนได้สูงถึงประมาณ 150°C - 180°C หรือบางชนิดทนความร้อนได้มากกว่านี้
1.2 มีความยืดหยุ่นสูง มีความเหนียวและทนต่อแรงฉีกขาด คุณสมบัติอันนี้ทำให้สามารถหล่อชิ้นงานที่มีรูปร่าง เว้า ลึก และเก็บรายละเอียดของต้นแบบได้เป็นอย่างดี
1.3 มีความนิ่มปานกลาง เพื่อให้ง่ายต่อการดึงชิ้นงานในขณะถอดแบบ
1.4 ไม่ติดกับวัสดุอื่น ทนต่อสารเคมีประเภท กรดและด่างได้ดี
2. ตัวทำให้แข็งของยางซิลิโคน (SILICONE CATALYST)
เป็นสารเคมีที่มีลักษณะใส มีกลิ่น เป็นตัวทำให้ยางซิลิโคนแข็งตัว อัตราส่วนโดยประมาณ 20:1 โดยน้ำหนัก หรือ 5 – 7% โดยน้ำหนัก ขึ้นอยู่กับชนิดของยางซิลิโคนและระยะเวลาที่ต้องการให้ยางซิลิโคนแข็งตัว
การผสมยาง
ยางซิลิโคนและตัวทำแข็งควรจะผสมกันให้ทั่วในภาชนะที่สะอาด โดยอัตราส่วนที่เหมาะสมของยางซิลิโคนแต่ละชนิดที่ผสมกันควรจะคนให้แน่ใจว่าผสมกันทุกส่วนเข้ากันดีแล้ว โดยสังเกตจากยางซิลิโคนและตัวทำแข็งจะไม่แยกชิ้นกัน แต่จะเป็นเนื้อเดียวกันหมด หากใช้เครื่องไล่อากาศช่วยจะผลดียิ่งขึ้น
หมายเหตุ
หากใส่ตัวทำแข็งมากเกินอัตราส่วน หรือเร่งให้แห้งเร็วเกินไปจะทำให้มีผลเสียดังนี้
1. ซิลิโคนมีลักษณะกรอบ และแข็งผิดปกติ
2. ซิลิโคนจะยุ่ย และฉีกขาดได้ง่าย
3. ใช้ถอดแบบได้จำนวนน้อยครั้ง
3. โพลีเอสเตอร์เรซิ่น (UNSTURATED POLYESTER RESIN)
เป็นพลาสติกชนิดหนึ่งมีลักษณะเหลวข้นนิยมทำเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกหล่อชนิดต่าง ๆ มีกลิ่นฉุน มีสีต่าง ๆ กันขึ้นอยู่กับชนิดของโพลีเอสเตอร์เรซิ่น โดยทั่วไปมีสีเนื้อ สีชมพูอ่อน สีเขียวอ่อน สีฟ้าอ่อน โพลีเอสเตอร์เรซิ่นมีอายุการเก็บประมาณ 3 – 4 เดือน ควรเก็บไว้ในที่ร่ม มีอากาศเย็น หรือถ่ายเทสะดวก
โพลีเอสเตอร์มีหลายชนิดขึ้นอยู่กับการใช้งานแต่ละประเภท เช่น
- โพลีเอสเตอร์เรซิ่นสำหรับ หล่อรูปต่าง ๆ และหินอ่อนเทียม
- โพลีเอสเตอร์เรซิ่นสำหรับ การทำกระดุม
- โพลีเอสเตอร์เรซิ่นสำหรับ เคลือบรูป
- โพลีเอสเตอร์เรซิ่นสำหรับ การทำไฟเบอร์กลาส
- โพลีเอสเตอร์เรซิ่นสำหรับ ทำสีโป้วรถยนต์
4. ตัวเร่งปฏิกิริยา (COBALT ACCELERATORS)
เป็นสารเคมีที่มีสีม่วง ช่วยเร่งให้ตัวทำแข็งทำปฏิกิริยาเร็วขึ้น ทำให้เกิดการแข็งตัวของเรซิ่นแต่ถ้าผสมตัวเร่งปฏิกิริยาลงในเรซิ่นเพียงอย่างเดียวจะไม่เกิดปฏิกิริยาใด ๆ ทั้งสิ้น ต้องใช้ร่วมกับตัวทำแข็ง (M60) เสมอ ที่นิยมใช้กันคือ COBATE NAPHTHENATUE ความเข้มข้นที่ใช้กันคือ 2 – 10% อัตราส่วนที่ใช้ผสมในเรซิ่นประมาณ 1 – 2% ต่อน้ำหนัก
หมายเหตุ
- หากต้องการจะลดความเข้มข้นของตัวเร่งปฏิกิริยาลง ให้เติมโมโนสไตรีน
- ควรเก็บตัวเร่งปฏิกิริยากับตัวทำปฏิกิริยาแยกกัน เนื่องจากหากผสมกันโดยตรงจะมีปฏิกิริยาทางเคมี รุนแรง จะมีควันและแก๊สพิษเกิดขึ้นหากมีปริมาณมาก อาจเกิดไฟไหม้ได้
5. ตัวทำปฏิกิริยา หรือ ตัวทำให้แข็ง (CATALYST หรือ HARDENER)
เป็นสารเคมีที่ทำให้เรซิ่นแข็งตัว แต่ต้องใช้ร่วมกับตัวเร่งปฏิกิริยา (COBALT) มีลักษณะเป็นของเหลวใส กลิ่นฉุนมาก มีอันตรายต่อตาและจมูก ควรเก็บไว้ในที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ตัวทำปฏิกิริยาที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ MEKP (METHYL ETHYL KETONE PEROXIDE) ซึ่งมีความเข้มข้นที่ 50% - 60% หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า บูทาน๊อกเอ็ม 50 (BUTANOX M50) หรือ บูทาน๊อกเอ็ม 60 (BUTANOX M60) โดยผสมตัวเร่งปฏิกิริยา (COBALT) ลงในโพลีเอสเตอร์เรซิ่นก่อน ผสมให้เข้ากันแล้วจึงเติมตัวทำปฏิกิริยาลงไป อัตราส่วนที่เหมาะสมกับการใช้โดยประมาณ 0.5 – 4%
ข้อควรระวัง
1. หากถูกสารเคมีชนิดนี้กระเด็นเข้าตาหรืออวัยวะส่วนใด ให้รีบล้างออกด้วยน้ำทันที หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาพบแพทย์
2. ควรเก็บตัวเร่งปฏิกิริยา (COBALT) กับตัวทำปฏิกิริยา (BUTANOX M60) แยกกันเนื่องจากหากผสมกันโดยตรงจะมีปฏิกิริยาทางเคมีรุนแรง ทำให้เกิดควันและแก๊สพิษขึ้น หากมีปริมาณมากอาจเกิดไฟไหม้ได้
6. อะซิโตน (ACETONE)
ใช้ล้างทำความสะอาดเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เปื้อนเรซิ่น มีลักษณะเป็นของเหลวใส มีกลิ่นคล้ายทินเนอร์
7. แม่สี (PIGMENT)
มีลักษณะข้นเหนียวเป็นครีมหรือเป็นผง ที่นิยมใช้จะเป็นแม่สีหลักอยู่ 6 สี คือ แดง เหลือง น้ำเงิน ขาว ดำ เขียว สีที่ใช้ต้องเป็นสีชนิดที่ใช้ผสมกับโพลีเอสเตอร์เรซิ่นเท่านั้น แม่สีแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ สีทึบ และ สีใส
8. แป้งทัลคัม (TALCUM), แป้งแคลเซียม (CULCIUM)
ใช้ผสมลงไปในเนื้อโพลีเอสเตอร์เรซิ่น สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการให้มีน้ำหนักมาก และเพื่อช่วยลดต้นทุน
9. ติตาเนี่ยม (TITANIUM DIOXIDE)
เป็นผงสีขาว ใช้ผสมกับโพลีเอสเตอร์เรซิ่น เพื่อต้องการให้ผิวงานมีสีขาวนวล
|